ความรู้เกี่ยวกับปลวก
ปลวก คืออะไร
ปลวกเป็นแมลงที่มีชีวิตความเป็นอยู่แบบสังคมอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ภายในรัง ปลวกมีนิสัยชอบที่มืดและอับชื้น ภายใน 1 รัง ปลวกจะมีการแบ่งแยกหน้าที่ในการทำงานกันอย่างชัดเจน จึงแบ่งปลวกออกได้เป็น 3 ประเภท (วรรณะ) โดยปลวกทุกวรรณะไม่ได้มีความสามารถในการกัดกินเนื้อไม้ จะมีเพียงวรรณะกรรมกรหรือปลวกงานที่ทำหน้าที่หาอาหารเพียงวรรณะเดียวเท่านั้นที่สามารถกัดกินเนื้อไม้และก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่ไม้ได้ |
ประเภทของปลวก
1. วรรณะกรรมกร (Worker)
เป็นปลวกตัวอ่อนและตัวเต็มวัยที่เป็นหมัน มีจำนวนมาก เป็นปลวกที่มีขนาดตัวเล็ก สีขาวนวล ไม่มีปีก เป็นหมัน มีผนัง ลำตัวบางสีอ่อน ไม่มีตา ใช้หนวดเป็นอวัยวะรับความรู้สึก พบจำนวนมากที่สุดภายในรัง และเป็นวรรณะเดียวที่กัดกินเนื้อไม้ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ไม้ มีหน้าที่เกือบทุกอย่างภายในรัง ตั้งแต่หาอาหาร เก็บสะสม ป้อนอาหารให้ปลวกราชินี ปลวกราชา ปลวกทหาร และตัวอ่อนที่เกิดใหม่ ที่ไม่สามารถหาอาหารกินเองได้ นอกจากนี้ปลวกงานยังสร้างและซ่อมแซมรัง ทำความสะอาดรัง และดูแลไข่ |
2. วรรณะทหาร (Soldier)
เป็นปลวกที่มีหัวขนาดใหญ่ สีเข้ม มีโครงสร้างผนังลำตัวที่แข็งแรงกว่าในวรรณะอื่น มีกรามขนาด ใหญ่ซึ่งดัดแปลงไปเป็นอวัยวะคล้ายคีมที่มีปลายแหลมคมสำหรับใช้ในการต่อสู้กับศัตรูที่มารบกวนสมาชิก ภายในรัง ไม่มีปีก ไม่มีตา ไม่มีเพศ |
3. วรรณะสืบพันธุ์ (Reproductive)
เป็นวรรณะที่ปลวกมีรูปร่างต่างกันไป ตามช่วงเวลาในการดำเนินชีวิต ได้แก่
- แมลงเม่า (Alate or winged reproductive male or female) เป็นวรรณะสืบพันธุ์ที่มีปีก ซึ่งมีปีก 2 คู่ ปีกมีขนาดยาวเป็น 2 เท่าของลำตัว สีของลำตัวจะเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองไปจนถึงสีดำ เมื่อมีสภาพอากาศที่เหมาะสมโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนแมลงเม่าจะบินออกจากรังเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ เมื่อผสมพันธุ์เสร็จแมลงเม่าจะสลัดปีกทิ้งและเดินตามกันเพื่อหาช่องว่างหรือรอยแตกภายในดินเพื่อวางไข่และสร้างรังใหม่ต่อไป
- ปลวกราชินี (Queen) และปลวกราชา (King) เป็นแมลงเม่าที่ผสมพันธุ์กันแล้วสลัดปีก และสร้างรังอยู่ในดิน หรือในไม้ เมื่อผสมพันธุ์ครั้งแรกแล้ว ส่วนท้องของปลวกราชินีจะขยายใหญ่ เพื่อให้รังไข่สามารถผลิตไข่ได้มากขึ้น จึงทำให้ปลวกราชินีมีขนาดใหญ่มากที่สุดในรังและมีอายุยืนยาว 25 – 50 ปี และทำให้ปลวกราชินีเคลื่อนไหวได้ลดลง จึงต้องมีปลวกงานคอยดูแล ส่วนใหญ่ใน 1 รัง จะมีปลวกราชินี 1 ตัวหรือมีปลวกราชินีได้มากกว่า 1 ตัว แล้วแต่ชนิดของปลวก แต่มีปลวกราชาตัวเดียว ในขณะที่ปลวกราชาหลังจากผสมพันธุ์แล้วมีขนาดลำตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ปลวกราชา 1 ตัวสามารถผสมพันธุ์ได้หลายครั้ง
- วรรณะสืบพันธุ์รอง (Supplementary Queen and King) เป็นปลวกที่ทำหน้าที่ผสมพันธุ์และออกไข่ เพิ่มจำนวน ประชากร ในกรณีที่ปลวกราชาหรือปลวกราชินีของรังถูกทำลายไป แต่มีประสิทธิภาพในการผลิตไข่ต่ำและมีอายุขัยสั้นกว่าเมื่อเทียบกับปลวกราชินีหรือปลวกราชา
เป็นปลวกตัวอ่อนและตัวเต็มวัยที่เป็นหมัน มีจำนวนมาก เป็นปลวกที่มีขนาดตัวเล็ก สีขาวนวล ไม่มีปีก เป็นหมัน มีผนัง ลำตัวบางสีอ่อน ไม่มีตา ใช้หนวดเป็นอวัยวะรับความรู้สึก พบจำนวนมากที่สุดภายในรัง และเป็นวรรณะเดียวที่กัดกินเนื้อไม้ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ไม้ มีหน้าที่เกือบทุกอย่างภายในรัง ตั้งแต่หาอาหาร เก็บสะสม ป้อนอาหารให้ปลวกราชินี ปลวกราชา ปลวกทหาร และตัวอ่อนที่เกิดใหม่ ที่ไม่สามารถหาอาหารกินเองได้ นอกจากนี้ปลวกงานยังสร้างและซ่อมแซมรัง ทำความสะอาดรัง และดูแลไข่ |
วงจรชีวิตของปลวก
ปลวกมีการเจริญเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบไม่สมบูรณ์ หรือ incomplete metamorphosis คือ ประกอบด้วยระยะไข่ (egg) ระยะตัวอ่อน (larva) และระยะตัวเต็มวัย (adult) โดยเริ่มจากช่วงหลังฝนตก แมลงเม่าเพศผู้และเพศเมียจำนวนมากบินออกจากรังในช่วงเวลาพลบค่ำ เพื่อมาเล่นไฟ จับคู่ผสมพันธุ์กัน จากนั้นจึงสลัดปีกทิ้ง แล้วเจาะลงไปสร้างรังในดิน ในบริเวณที่มีแหล่งอาหารและความชื้น หลังจากปรับสภาพดินเป็นที่อยู่แล้วประมาณ 2 – 3 วัน ปลวกราชินีจึงเริ่มวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ และจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจถึงวันละหลายพันฟอง สำหรับปลวกราชินีเมื่อวางไข่ครั้งแรกแล้วส่วนท้องจะขยายใหญ่ขึ้น เพื่อผลิตไข่ให้ได้มากขึ้นและใช้เป็นอวัยวะเก็บไข่ ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน และเจริญเติบโตโดยมีการลอกคราบจนเป็นตัวเต็มวัย ไข่รุ่นแรกจะฟักออกมาเป็นปลวกไม่มีปีก และเป็นหมัน ปลวกราชินีจะผลิตฟีโรโมน ออกมาจากทวารหนักของปลวกราชินี เพื่อควบคุมให้ปลวกเพศเมียเป็นหมัน และกระตุ้นให้ตัวอ่อนของปลวกพัฒนาไปเป็นวรรณะต่างๆ โดยฟีโรโมนดังกล่าวที่ปลวกราชินีปล่อยออกมา ยังมีหน้าที่ควบคุมการสร้าง juvenile hormone ในตัวอ่อน โดยในระยะ 3 – 4 ปีแรกของการสร้างรัง จำนวนปลวกงานและปลวกทหารจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ระยะเวลาการเจริญจากไข่ถึงปลวกทหารปลวกงาน ใช้เวลา 4 – 6 เดือน โดยจะมีบางส่วนเท่านั้นที่เจริญไปเป็นปลวกวรรณะสืบพันธุ์รอง เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์จะเจริญไปเป็นแมลงเม่า ซึ่งมีปีกยาวสมบูรณ์เต็มที่บินออกไปผสมพันธุ์ต่อไป ระยะเวลาการเจริญของวรรณะสืบพันธุ์จากไข่ถึงตัวเต็มวัยใช้เวลา 9 – 10 เดือน
ที่มา : Chow-Yang Lee(2014)
อะไรคืออาหารของปลวก?
อาหารของปลวกคือเซลลูโลส (cellulose) ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในเนื้อไม้ ปลวกส่วนใหญ่ทำความเสียหายแก่ไม้หรือโครงสร้างไม้ภายในอาคารบ้านเรือน รวมถึงเครื่องใช้ต่างๆ ที่ทำมาจากไม้ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบหลักในการดำรงชีวิต ได้แก่ ไม้แปรรูป วงกบประตู วงกบหน้าต่าง ขอบบัวของพื้นอาคาร ฝ้าเพดาน พื้นไม้ปาร์เก้ วอลเปเปอร์ พลาสติก วัสดุที่ทำจากกระดาษและใยผ้าต่างๆ ผลของการทำลายและกัดกินของปลวกจะสูญเสียโครงสร้างอันสวยงามของไม้ พื้น พรม รูปภาพ หนังสือ เสื้อผ้า เครื่องเรือน และกระดาษที่มีค่า
ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเข้าทำลายปลวก
ปลวกเป็นแมลงศัตรูทำลายไม้ที่สำคัญและสร้างความเสียหายมากที่สุด ก่อให้เกิดความเสียหายจากการเข้าทำลายอาคารบ้านเรือน สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ทำจากไม้ ไม้ใช้ประโยชน์ที่อยู่กลางแจ้ง ไม้ใช้ประโยชน์ที่เป็นโครงสร้างภายในอาคารบ้านเรือน วัสดุสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ทำมาจากไม้ กล้าไม้และไม้ยืนต้น นอกจากนั้นยังทำลายผลิตภัณฑ์ที่มีเซลลูโลสเป็นส่วนประกอบอีกด้วย โดยทั่วโลกมีปลวกแพร่กระจายอยู่ประมาณ 2,500 ชนิด
ในประเทศไทย พบปลวกประมาณ 200 ชนิด ปลวกชนิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อไม้ที่นำไปใช้ประโยชน์ มี 9 สกุล 10 ชนิด และจากการสำรวจชนิดปลวกที่เข้าทำลายบ้านเรือนในประเทศไทย พบว่าปลวกที่เข้าทำลายบ้านเรือนมากที่สุด และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูงที่สุด คือ ปลวกชนิด Coptotermes gestroi (Wasmann) พบในเขตเมือง 90% ของพื้นที่สำรวจ และพบในพื้นที่ชนบท 22% ของพื้นที่สำรวจ รองลงมา คือ ปลวกชนิด Microcerotermes crassus Synder พบเข้าทำลายบ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทเท่านั้น ซึ่งพบ 42% ของพื้นที่ชนบทที่สำรวจ
จะรู้ได้อย่างไรว่าปลวกขึ้นบ้านแล้ว?
ปลวกจะไม่ขึ้นมาเดินบนพื้นผิวอาคารเพื่อหาอาหาร ส่วนใหญ่คุณจะพบตัวปลวกก็ต่อเมื่อมันได้เข้ามาแล้ว อย่างไรก็ตามคุณสามารถดูได้จากพฤติกรรมดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าอาจจะมีปลวก
- พบทางเดินปลวกจากพื้นดินเข้าสู่ตัวบ้าน หรือขี้ดินเป็นทางบนพื้นกำแพง
- พบปีกแมลงเม่าที่สลัดออกอยู่ใกล้ประตูและกรอบหน้าต่าง
- สีที่ทาบนผิวไม้โปร่งร่อน เมื่อเคาะมีเสียงกลวง
- มีเสียงการเคลื่อนไหวอย่างวุ่นวายเมื่อเคาะบนพื้นผิวไม้
ปลวกทำลายไม้ที่มีความสำคัญบางชนิด
1. ปลวกไม้แห้ง
ชนิดที่สำคัญ คือ Cryptotermes thailandis ส่วนใหญ่พบเข้าทำความเสียหายรุนแรงต่ออาคารบ้านเรือนที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเล หรือพื้นที่ที่เป็นเกาะ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศไทย
ที่มา: Lee and Neoh (2014)
2. ปลวกใต้ดิน
ชนิดที่สำคัญ คือ Coptotermes gestroi จัดเป็นปลวกชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในประเทศ ร้อยละ 90 ของอาคารที่ถูกทำลาย เกิดจากการเข้าทำลายของปลวกชนิดนี้ และเกือบร้อยละ 100 พบเข้าทำความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนที่อยู่ในเขตเมือง
3.ปลวกสร้างรังขนาดเล็ก
ชนิดที่สำคัญ คือ Microcerotermes crassus โดยทั่วไปพบเข้าทำความเสียหายต่อไม้ใช้ประโยชน์ ภายนอกอาคารหรือในอาคารบ้านเรือนที่อยู่ในเขตชนบท โดยเฉพาะตามทุ่งนา แต่ในปัจจุบันเนื่องจากมีการขยายพื้นที่โครงการบ้านจัดสรรออกไปตามเขตชานเมืองที่เคยเป็นทุ่งนามาก่อน จึงพัฒนาตัวเองกลายเป็นศัตรูทำลายไม้ที่สำคัญของอาคารที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะในระยะหลังจากปลูกสร้าง 1-2 ปี จากนั้น จึงจะพบปลวก Coptotermes gestroi เข้าทำลายตามมา
ที่มา: จารุณี และคณะ (2548)
4.ปลวกสร้างรังขนาดกลางถึงขนาดใหญ่
ชนิดที่สำคัญ คือ Globitermes sulphureus, Macrotermes gilvus และ Odontotermes longignathus มักพบเข้าทำความเสียหายต่อไม้ใช้ประโยชน์ภายนอก และไม้ในอาคารบ้านเรือนที่อยู่ในเขต ชนบท
ที่มา: จารุณี และ ขวัญชัย (2551); ชัยวัฒน์ (ม.ป.ป.); Lee and Neoh (2014)
ปลวกเข้าทำลายอาคารบ้านเรือนได้อย่างไร
ปลวกโดยส่วนมากจะมีช่องทางการเข้าทำลายอาคารบ้านเรือนอยู่หลายช่องทาง เช่น ตามรอยแตกร้าวของพื้นคอนกรีต หรือรอยต่อระหว่างพื้นคอนกรีตและผนังอาคาร บริเวณรากฐาน เช่น เสา คาน ผนัง วงกบประตู หน้าต่าง บริเวณขอบบัวของพื้นอาคาร และพื้นไม้ปาร์เก้ โดยเฉพาะตามมุมห้องต่าง ๆ บริเวณพื้นใต้บันได ผนังอาคาร หลังตู้เก็บของ ห้องเก็บของที่ไม่มีการเคลื่อนย้ายของเป็นเวลานานๆ ตามแนวคานในฝ้าเพดาน หรือตามท่อระบายน้ำ และตามปล่องท่อสายไฟ
เอกสารอ้างอิง
- กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. 2555. นานาสาระเกี่ยวกับปลวกและวิธีการป้องกันกำจัดปลวก. อาหารและยา 19 (1): 11–15.
- จารุณี วงศ์ข้าหลวง, ยุพาพร สรนุวัตร, ขวัญชัย เจริญกรุง และ ศจิษฐ์ ชุติภาปกรณ์. 2548. ความหลากหลายของปลวกในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. หจก. อักษรสยามการพิมพ์, กรุงเทพฯ.
- จารุณี วงศ์ข้าหลวง และ ขวัญชัย เจริญกรุง. 2551. ปลวก การป้องกันและกำจัด. สำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ.
- ธีระ วีณิน. 2549. การรักษาคุณภาพไม้. พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, ปทุมธานี.